ในสภาพพื้นที่นา บางพื้นที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหาย อีกทั้งในช่วงฤดูแล้งก็ขาดแคลนน้ำใช้ในการปลูกข้าว จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีในการทำนาปลูกข้าว หันมาปลูกแตงโม เนื่องจากแตงโมใช้น้ำน้อย ใช้ระยะเวลาปลูกเพียงสั้นๆ ก็สามารถเก็บผลผลิตแตงโมส่งขายได้
การเลือกพื้นที่ปลูก
การปลูกแตงโมควรเลือกพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมโดยอาจเป็นพื้นที่นา โล่งแจ้ง มีความชื้นในดิน
ฤดูปลูกที่เหมาะสม
เนื่องจากแตงโมไม่ชอบฝนตกชุก เพราะอาจเป็นโรคเหี่ยวตายได้ ดังนั้นควรเลือกปลูกแตงในเดือน พฤศจิกายน-มีนาคม และเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้ายจนถึงเดือนมิถุนายน
การเตรียมดิน
ก่อนปลูกแตงให้ไถพลิกหน้าดิน ตากดินอย่างน้อย 7-10 วัน ในดินที่เป็นกรดจัดให้ใช้ปูนขาวปรับสภาพดินอัตรา 500 กก./ไร่ หากเป็นพื้นที่เดิมที่มีการปลูกแตงโมซ้ำซากให้ปลูกพืชหมุนเวียน (พืชตระกูลถั่ว) ก่อนปลูกแตงโม หลังจากไถให้ทําการพรวนดินย่อยดินให้มีหน้าดินลึก ร่วน และโปร่ง จากนั้นยกร่องกว้าง 1.5-2 เมตร ความยาวตามสภาพพื้นที่ ความกว้างระหว่างแปลง 30-50 เซนติเมตร
การปลูก
เตรียมหลุมปลูก ระยะ 80 x 100 ซม. ก่อนนําเมล็ดพันธุ์ไปปลูกให้นําไปคลุกสารเคมีป้องกันเชื้อรา ไดเทนเอ็ม-45 อัตรา 15 กรัม/เมล็ดพันธุ์ 1 กก.
การดูแลจัดการ
- การให้น้ำควรให้น้ำตามร่องทุก 5-7 วัน หรือระบบน้ำหยด ตามสภาพความชื้นของดิน ห้ามให้น้ำระบบพ่นฝอยเด็ดขาด เพราะอาจทําให้เกิดโรคเหี่ยวได้
- จัดเถาแตงโมเมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตจนมีความยาวประมาณ 2 ฟุต ให้เหลือต้นละ 4 เถา โดยอย่าให้แต่ละเถาเจริญซ้อนทับกัน เป็นการเพิ่มการติดผล
- การปลิดผลทิ้งมีความสําคัญจะมีผลต่อคุณภาพผลผลิต ควรปลิดผลทิ้งเมื่อผลมีการเจริญเติบโตขนาดเท่าลูกปิงปอง โดยเลือกไว้ผลเถาละ 1 ผล เลือกผลที่มีขนาดขั้วผลใหญ่ที่สุดในเถานั้น ซึ่งจะให้ผลแตงโมขนาดใหญ่
- การต่อดอกเป็นเทคนิคการช่วยผสมเกสร กรณีเกษตรบางรายประสบปัญหาแตงโมไม่ติดผล เพราะใช้สารเคมีจํานวนมาก เราสามารถช่วยผสมเกสรได้ตั้งแต่เวลา 6.00-10.00 น. หลังจาก 10.00 น. ดอกตัวเมียไม่รับการผสม
- การใส่ปุ๋ยใส่ปุ๋ยคอกช่วยให้ดินร่วนซุย อัตรา ไร่ละ 1.5 ตัน และปุ๋ยเคมี สูตร 10-10-20 หรือ 13-13-21 อัตราส่วน 100-150 กก./ไร่ ใส่ในช่วงเถาแตงเจริญได้ประมาณ 6 ฟุต
การป้องกันกําจัดศัตรูพืช
1. โรคเถาเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม ป้องกันกําจัดโดย อย่าปลูกแตงซ้ำที่เดิม, ใช้ปูนขาวอัตรา 500 กก./ไร่ ปรับสภาพดิน และใช้สารเคมี เช่น แมนโคเซบ หรือไดเทน อัตรา 1:5 ฉีดพ่นที่ต้น
2. โรคเถาเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีแมลงเต่าแตงเป็นพาหะ การป้องกันกําจัดให้ใช้สารเคมี เซฟวิน 85 ฉีดพ่นกําจัดเต่าแตง และใช้สารอะกริมัยซิน 5-10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร กําจัดเชื้อแบคทีเรีย
3. เพลี้ยไฟ เกิดอาการใบหงิก เข้าทําลายในช่วงอากาศแห้งและร้อน ป้องกันกําจัดโดยใช้ แลนเนท อัตรา 15-20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น
ขอขอบคุณข้อมูล : www.fourfarm.com